top of page

ประสิทธิภาพของการฝึกสติ (Effectiveness of Mindfulness)

อัปเดตเมื่อ 22 ต.ค. 2564

ใน ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมานักประสาทวิทยา จิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้นำวิธีการฝึกสติมาประยุกต์ใช้กับการงานจิตบำบัดและการเยียวยาทางจิตใจมาขึ้น โดยได้ทำการศึกษาถึงประสิทธิภาพของสติและได้พบว่าการฝึกสติอย่างถูกวิธีจะส่งผลต่อสภาพจิตใจและการเปลี่ยนแปลงทางสมอง ดังนี้


1) การฝึกสติช่วยเพิ่มการรับรู้

งานวิจัยพบว่าเมื่อผู้ที่ฝึกสมาธิภาวนาได้เข้าไปสู่สภาวะที่ลึกมากขึ้นในการทำสมาธิ จะมีการทำงานของรังสีแกมมาที่แผ่ขยายกว้างและเข้มแข็งขึ้น ซึงจะช่วยเพิ่มการตระหนักรับรู้ (awareness) ให้กับสมองทำให้บุคคลมีความรู้สึกถึงการตระหนักรู้มากขึ้น มีความนิ่ง และมั่นคงขึ้น


2) การฝึกสติช่วยเพิ่มความหนาแน่นของสมอง

ผู้ฝึกสติจะมีสมอง gray matter, left inferior temporal gyrus, right hippocampus และ right anterior insular หนากว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสมองส่วน left inferior temporal gyrus ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในส่วนลึก และการรับรู้ต่อความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง ส่วน right hippocampus ก็ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสนใจและอารมณ์ ส่วน right anterior insular จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้ภายใน ฉะนั้นความหนาแน่นของสมองส่วนต่างๆที่เพิ่มขึ้น จึงหมายความว่าบุคคลจะมีความสามารถในการทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสมองส่วนต่างๆเหล่านั้นดีขึ้นด้วย และนอกจากนี้ยังพบว่ายิ่งได้ฝึกมากขึ้นความหนาแน่นของสมองที่เพิ่มขึ้น


3) การฝึกสติช่วยเพิ่มความสามารถในการคงความสนใจและการตอบสนองทางอารมณ์เชิงบวก

ผู้ฝึกสติจะมีการทำงานของสมองส่วนหน้าและสมองส่วน anterior cingulated cortex มากกว่าผู้ที่ไม่เคยฝึกสติมาก่อน ซึ่งสมองส่วนดังกล่าวเชื่อมต่อระหว่างสมองระบบ limbic ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกและสมองส่วน Prefrontal lobe ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรู้คิด การตั้งเป้าหมาย การวางแผน และการควบคุมการปฏิบัติการ ฉะนั้น anterior cingulated cortex จึงทำหน้าที่ในการรักษาความตั้งใจและคอยติดตามผลของแผนการต่างๆ และคอยประสานความคิดและความรู้สึกเข้าด้วยกัน ผู้ที่ฝึกสติจึงมีกระบวนการทำงานในการหันเหความสนใจจากสิ่งเร้าได้ดี มีสมาธิอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และการทำงานที่มากขึ้นในสมองส่วนนี้ยังสัมพันธ์กับการตอบสนองทางอารมณ์เชิงบวก เช่น ความรักความเมตตา (loving-kindness) และความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ (empathy) อีกด้วย


4) การฝึกสติช่วยลดการตายของเซลล์สมอง

งานวิจัยพบว่า ผู้ที่ได้ฝึกสติมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมองเกิดขึ้น โดยสมองส่วน Prefrontal cortex สมองส่วน right anterior insular และ left superior temporal gyrus มีความหนากว่าผู้ที่ไม่ได้ฝึก ซึ่งสมองส่วนต่างๆเหล่านี้ ทำงานเกี่ยวข้องกับการคงความสนใจ การมีสมาธิ (attention) การรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายใน(Interoception) และกระบวนการรับรู้ความรู้สึก (Sensory processing) ทั้ง ทางการได้ยิน การมองเห็น และการรู้สึกทางกาย ซึ่งสมองส่วน Prefrontal cortex นี้จะบางมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น เนื่องจากเซลล์สมองจะตายลง แต่จากการศึกษาทดลองนี้ยังสะท้อนว่าการฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมออาจช่วยลดการตายของเซลล์สมองที่ลดลงตามอายุที่มากขึ้นได้


5) การฝึกสติช่วยในการรักษาโรคทางจิตเวช

5.1 การบำบัดด้วยสติสามารถลดอาการซึมเศร้าที่หลงเหลืออยู่ได้ (Resiaual symtoms)

5.2 การบำบัดด้วยสติช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำาของโรคซึมเศร้า (Relapse prevention)

5.3 การบำบัดด้วยสติช่วยในการรักษาโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar disorder)

5.4 การบำบัดด้วยสติในการรักษากลุ่มโรควิตกกังวล (Generallized anxiety disorder)

5.5 การมีสติช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิตใจ (Resilience)


ดังนั้น การฝึกสติอย่างถูกวิธี จึงส่งผลให้ผู้ปฏิบัติรับรู้ถึงความคิดและความรู้สึกต่างๆที่ผ่านเข้ามา เพียงแค่สังเกตดูความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นด้วยโดยไม่ต้องไปเป็นตัวความคิดหรือความรู้สึกตระหนักรู้กับความคิดหรือสิ่งที่ปรากฏขึ้น ้เห็นความคิดว่าผ่านเข้ามา ความคิดอยู่ตรงนั้น แล้วความคิดก็ผ่านออกไป ไม่เป็นเจ้าของความคิดหรือความรู้สึกเหล่านั้น ไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง

เมื่อฝึกสติจนจิตใจเกิดความเป็นกลางและสมดุล และสามารถทำให้ความสมดุลนั้นคงอยู่ก็จะส่งผลให้บุคคลมีใจที่มั่นคง สามารถเปิดรับได้กับทุกสิ่งที่มากระทบ ซึ่งลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น ถือได้ว่าเป็นความรู้สึกของการมีชีวิตอยู่โดยไม่ถูกรบกวน ให้เครียด ทุกข์หรือกังวลใจ มีความผ่อนคลาย สบาย ยอมรับและมีความสุขกับสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับจิตใจ มีความนิ่งและสงบยิ่งขึ้น บุคคลจะมองเห็นธรรมชาติของความไม่มั่นคงถาวร ไม่หวั่นไหวต่อความทุกข์ ความเจ็บปวด หรือความผิดหวังที่เกิดขึ้น


เขียนและเรียบเรียงโดย พิชชาพร สิทธิโชค (นักจิตวิทยาคลินิก)


ดู 691 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page