top of page

อาการเม้งแตกชั่ววูบ (Intermitten Explosive Disorder - IED)

อัปเดตเมื่อ 21 ต.ค. 2564



มันคืออาการโกรธพลุ่งพล่านจนระงับไม่ได้ หน้าแดง ความดันขึ้น มือไม้สั่น จนอาจกลายเป็นความรุนแรงต่อตนเองและผู้อื่นทั้งคำพูดและการกระทำ


ความโกรธไม่ดีจริงเหรอ?


จริงๆแล้วอารมณ์โกรธนี่มันเป็นธรรมชาติมนุษย์ที่ติดตัวเรามาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษดึกดำบรรแล้วค่ะ เป็นอะไรที่เราทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนต้องมีด้วยกันทั้งนั้น ใครไม่มีอารมณ์เหล่านี้ก็คงเป็นพระนักบวชกันไปแล้วล่ะ


จะว่าไปอารมณ์แล้วโกรธก็มีข้อดีอยู่เหมือนกันนะคะ เช่น โกรธที่เห็นความอยุติธรรม โกรธที่เห็นคนอ่อนแอถูกรังแก ฯลฯ ทำให้เรามีพลังบางอย่างผลักดันให้เรากล้าแสดงออก (assertive) ในสิ่งที่ถูกต้อง


แต่ประเด็นคือ พอคนเรามีอารมณ์โกรธ ทำอย่างไรจะไม่ก้าวไปเป็นด้านมืดของความโกรธ กลายเป็นอาการเม้งแตกหรือโมโหชั่ววูบที่เขาเรียกว่า Intermitten Explosive Disorder (IED) จนกลายเป็นการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ แล้วก็กลายเป็นเรื่องที่เราต้องมาเสียใจทีหลัง..


1) ต้องเข้าใจก่อนค่ะว่าอะไรคือความโกรธบ้าง…

จริงๆแล้ว "งอน" หรือ "น้อยใจ" ก็คือความโกรธระดับหนึ่งเหมือนกันนะคะ ซึ่งก่อนจะไปถึงความโกรธ...จุดตั้งต้นของมันก็คือ “ความไม่พอใจ” ค่ะ ไม่พอใจที่ไม่ได้รับการใส่ใจ ไม่พอใจที่ถูกทิ้ง ไม่พอใจที่ถูกตำหนิต่อว่า ไม่พอใจที่ถูกเอาเปรียบ ไม่พอใจที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่พอใจในโชคชะตาไม่พอใจที่ด้อยกว่าคนอื่น ไม่พอใจถูกเปรียบเทียบ…


2) โกรธแล้วแสดงออกยังไง

อาการทางกายที่เกิดขึ้นคือ เกร็งกล้ามเนื้อ ปวดหัว ปวดท้อง หัวใจเต้นแรง เหงื่อแตก ร้อน ใบหน้าแดงกล่ำ ร่างกายหรือมือสั่น บางคนโกรธแล้วไม่ระบายออกอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นการเก็บกดความโกรธค่ะ เช่น เราตัดสินและบอกว่าความโกรธที่เรามีนั้นมันไม่ดี อย่างกรณีตัวอย่างข้างต้น เราโกรธที่ถูกแม่ตำหนิ แต่ด้วยความที่เราถูกสังคมกล่อมเกลามาว่าการโกรธหรือโต้ตอบบุพการีเป็นสิ่งไม่ดี ห้ามทำ ทำไม่ได้ มันบาป ดังนั้น เราจึงพยายามเก็บกดและแอบซ่อนมันไว้ไม่ให้มันแสดงตัวออกมา

สุดท้ายแล้วอารมณ์ความโกรธที่มันไม่ได้รับการยอมรับ มันก็จะกลายเป็นพลังที่ย้อนกลับมาทำร้ายตนเอง...ทำให้เราปวดหัว ไม่ชอบตัวเอง โกรธเกลียด กล่าวโทษ และตำหนิตนเองที่ไม่ดีและอาจถึงขั้นซึมเศร้าหรือในเคสรุนแรงฆ่าตัวตายไปเลยก็มีค่ะ…

บางคนมีอารมณ์ไม่พอใจ โกรธ หงุดหงิด แต่พาลก็เลือกที่จะระบายออก ซึ่งการแสดงออกก็มีหลายระดับ ตั้งแต่การกล่าวโทษผู้อื่น ด่าทอด้วยคำพูดที่รุนแรง หรือ ใช้คำพูดแขวะ เหน็บแนม เสียดสี ชวนทะเลาะตบตี ทำร้ายร่างกายจนถึงฆ่าฟันกันอย่างที่เห็นในข่าวดังที่ผ่านมา เป็นต้น


3) งั้นต้องโกรธอย่างไรถึงปลอดภัย?…🧐

พอโกรธแล้วรู้ว่าโกรธ ก็ไประบายออกบ้างค่ะ จะไประบายความรู้สึกให้เพื่อน คนที่ไว้ใจหรือนักจิตฯฟังก็ได้ค่ะ จะเขียนระบายอารมณ์ หรือระบายด้วยการออกกำลังกาย การวิ่ง การต่อยมวย การเล่นกีฬา หรือแม้กระทั้ง shopping ก็พอได้นะค่ะ แต่อาจจะหมดเงินไปเยอะและเกิดอาการทรัพย์จางตามมาได้ และถ้าโกรธแล้วกินอาจจะพุงแตกไม่ใช่เม้งแตกนะคะ...

และวิธีการที่ค่อนข้างปลอดภัยที่สุดสำหรับตัวเองและคนอื่น คือ ตั้งสติและยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นก่อนค่ะ เราจะจัดการมันได้เราก็ต้องรู้ก่อนว่ามันมีตัวความโกรธ...ยอมรับในอารมณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าเราไม่พอใจ ยอมรับว่าเราไม่ชอบ ยอมรับว่าเราโกรธ แล้วเราต้องทันมันก่อนค่ะว่าเจ้าตัวอารมณ์โกรธนี้มันหน้าตาเป็นยังไง... และอาจคุยกับตัวเองต่อค่ะว่าความรู้สึกไม่พอใจหรือโกรธนั้นเกิดจากอะไร…มันคือความผิดหวัง หรือให้ความสำคัญกับตัวเองในขณะนั้นค่ะ… เราสำคัญว่าเราเป็นคนสำคัญคนหนึ่ง เราสำคัญว่าสิ่งที่เราเป็นสิ่งที่เราคิดมันถูก เราสำคัญว่าเราไม่ควรถูกกระทำ เราจึงไม่พอใจที่ถูกต่อว่า ถูกกล่าวหา ถูกตำหนิ ถูกเอาเปรียบ ถูกนินทา ถูกทิ้ง หรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมนั้นเองค่ะ


ขอย้ำอีกครั้งว่าความโกรธไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราจะจัดการมันได้เราก็ต้องรู้ก่อนว่ามันมีตัวตน และเราจะจัดการมันได้ค่ะ



เขียนและเรียบเรียงโดย พิชชาพร สิทธิโชค (นักจิตวิทยาคลินิก)


ดู 2,599 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page