top of page

ความรู้สึกผิดและการโทษตนเอง (Self-guilt and Self-blame)

อัปเดตเมื่อ 18 พ.ค. 2566



ธรรมชาติของคนเรามักมีความคาดหวังต่อตัวเองบางอย่างเสมอยิ่งยุคนี้เราเติบโตมาท่ามกลางการแข่งขันกันสารพัดเรื่องก็ยิ่งจะสร้างความคาดหวังหลายๆ อย่างให้ตัวเอง..


แล้วมันแปลกหรือไม่ดียังไง เดี๋ยวนี้มันก็อย่างนี้ทั้งนั้น คิดอย่างนั้นกันอยู่หรือเปล่าคะ..


มันไม่ดีตรงที่มันจะพัฒนาเป็นความรู้สึกผิดในตัวเอง (Self-guilt) ที่บั่นทอนสุขภาพจิตเราจนถึงขั้นซึมเศร้าได้เหมือนกันค่ะ..


ยังไงนะเหรอคะ ก็อย่างเช่น

- แข่งกันเป็นคนดี.. เราอาจมีความเชื่อหรือถูกปลูกฝังมาว่าเราต้องเป็นคนดี และหากเรายึดติดกับความคิดแบบนี้มากไป เราก็มีแนวโน้มที่จะไม่พอใจตัวเอง เมื่อโกรธ โมโห ทำบาป ทำผิดศีล ขี้เกียจหรือทำผิดไปจากสิ่งที่สังคมบอกเราว่าเป็น “ความดี” เราก็จะพาลรู้สึกแย่ที่ตัวเองมีอารมณ์ด้านมืดหรือไปทำอะไรแย่ๆเหล่านั้น จากนั้นก็มาเป็นชุดล่ะกับการมองตัวเองว่า “ฉันมันไม่ดีเลยนะ” และคำถามเชิงตำหนิตนเอง เช่น “ทำไมไม่ช่วยเขา” “ทำไมอกตัญญู” "ทำไมถึงคิดไม่ดีกับพ่อ-แม่" “ทำไมต้องโกหก” "ทำไมไม่มีความรับผิดชอบ" "ทำไมเป็นคนเห็นแก่ตัว" "ทำไมขี้โกหก" "ทำไมไม่เป็นแบบอย่างที่ดี"และทำไมอีกหลายต่อหลายทำไมที่เกิดจากการคาดหวังในตัวเองและถูกคนรอบข้างคาดหวัง...สรุปคือสงสัยความดีตัวเองนั่นแหละค่ะ..


- แข่งกันเป็นคนเก่ง.. เพราะระบบการศึกษาเราไม่ค่อยมีที่ยืนให้คนเรียนไม่เก่งเท่าไหร่เลย เด็กที่ได้รับการยกย่องเอารูปขึ้นอยู่ตามกำแพงโรงเรียนก็มีแต่เด็กที่ประสบความสำเร็จทางวิชาการทั้งนั้น เจอแบบนี้มากๆ ก็บอกตัวเองว่า “ฉันมันไม่เก่ง” “ฉันมันไม่ได้เรื่อง” “ฉันมันสู้ใครเขาไม่ได้” หนักเข้าก็เป็นความรู้สึกผิดในตัวได้เหมือนกันว่าทำไมเราถึงแย่ไม่ได้เรื่องแบบนี้..


- แข่งกันมีความสุข อันนี้ซับซ้อนหน่อยค่ะ เรากำลังอยู่ในสังคมวัตถุนิยมกันมาก นิยามความสุขบางทีก็ไปผูกกับการต้องมีนั่นมีนี่ มีเงินมากๆ มีบ้านมีรถสวยๆ มีมือถือรุ่นล่าสุด ฯลฯ ใครจะไปมีอย่างนั้นกันได้ทุกคนล่ะคะ ถ้าไปติดยึดกับวัตถุอย่างเดียว เราก็ตีตราตัวเองว่าเป็นคนล้มเหลว ที่ไม่มีอย่างที่เขามีกัน แล้วก็จบลงด้วยการตำหนิความล้มเหลว บอกตัวเองว่า “ฉันมันไม่ได้เรื่อง” ได้เช่นกัน..


ความรู้สึกพวกนี้ไม่ได้แค่ทำลายความสุขในชีวิตคนเราะคะแต่อาจลามไปถึงความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง จะทำอะไรก็ดูถูกตัวเองตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มว่า “หน้าอย่างฉันน่ะเหรอจะทำได้”


สิ่งเหล่านี้แหละค่ะที่มักจะนำเราไปสู่ความรู้สึกผิด การดูถูกตนเอง และการสูญเสียความสุขที่เราทุกคนควรมีในชีวิตไป..


มาตั้งหลักใจเปลี่ยนมุมมองชีวิตพิชิตเรื่องนี้กันค่ะ..


1) ความรู้สึกผิด (guilt) เกิดจากการติดกับมโนธรรมของตนเองที่คอยตักเตือนไม่ให้เรามีพฤติกรรมที่ไม่ดี การรู้สึกผิดจึงเป็นเสมือนด้านมืด(Id)ของเราโดนคุณธรรมประจำใจของเราหรือ Super Ego เล่นงานตัวเองเข้าให้แล้ว..


แล้วถ้าเราไม่สามารถให้อภัยกับความผิดที่เกิดขึ้นได้ ก็จะกลายเป็นเราเองที่จมอยู่กับความรู้สึกผิด จมอยู่กับการกล่าวโทษ ตำหนิตนเองเรื่อยไป ไม่ดีแน่ค่ะ.. ที่จริงถ้าเทียบกับผู้ที่หลงไปกระทำผิดกฎหมายถูกตัดสินว่า “มีความผิด” และ “รับโทษ” กันไปตามความผิดเขายังได้รับโอกาสให้ “สำนึกตัว” และกลับมาเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมได้เลยค่ะ..


แล้วเราเล่าถ้า “สำนึกผิด” จะไม่ให้อภัยตัวเองเพื่อกลับมาทำอะไรดีๆ ได้เชียวเหรอคะ.. เราเป็นมนุษย์นะคะ...ยอมมีข้อผิดพลาด กันเป็นธรรมดา มาฝึกให้อภัยตัวเองกันเถอะค่ะ..


2) นิยามความสุขความสำเร็จกันใหม่ค่ะ คนเราไม่ต้องรวย ไม่ต้องมีทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นคนมีความสุขมีความสำเร็จในแบบของตนเองได้ว่าไหมคะ..


ใครเคยไปต่างจังหวัดไปเดินตลาดเช้าๆ บางทีจะเห็น “ชมรมคุณยาย” มาขายผักขายน้ำพริกตั้งขายอยู่ใกล้ๆกัน แล้วก็คุยกันหัวเราะเอิ้กอ้าก ใบหน้าแต่ละท่านช่างน่าอิจฉาจริงๆ ดูมีความสุขกับชีวิตตรงหน้ากับปัจจุบันขณะ ทั้งที่แต่ละท่านก็คงไม่ได้มีเงินมีทองมีข้าวของอะไรมากมายในชีวิตอย่างเราหลายคน แล้วไฉนจึงดูมีความสุขจัง..


ก็ท่านคงนิยามความสุขความสำเร็จในชีวิตต่างจากเรานั่นแหละค่ะ และถ้าตราบใดเรายังไปวิ่งตามนิยามความสุขความสำเร็จตามคนอื่นก็วิ่งตามต่อไป...คงเหนื่อยกันแย่..


บางทีความสุขก็อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง แค่เราลืมคิดลืมมองไป ไปเที่ยวไล่ตามความสุขแบบคนอื่น มันถูกเรื่องไหมละคะนั่น..



3) ลองมานับความดีความสุขความสำเร็จรายวันกันค่ะ เป็นวิธีฝึกสมองด้วยฝึกใจด้วยให้ “เห็นตัวเอง” ในมุมที่ดีบ้างให้ติดเป็นนิสัย..


ทำง่ายๆจดลงมือถือก็ได้ค่ะ คนเรามีความสุขความสำเร็จรวมทั้งการทำความดีเล็กๆน้อยๆรายวันกันทั้งนั้นแต่ไม่ค่อยจะเอามาใช้ประโยชน์กันเลย..


ลองจดดูนะคะ ตั้งแต่เรื่องไม่เป็นเรื่องอย่างวันนี้กระเพราไข่ดาวป้าอร่อยจัง ไปจนถึงรถไม่ติดดีแฮะวันนี้หรือเพื่อนเก่าทักมาดีจัง แล้วก็รวมทั้งเรื่องดีๆที่เราทำให้คนรอบตัว ซื้อขนมไปฝาก ช่วยถือของ เปิดประตู แม้แต่ช่วยนั่งรับฟังปัญหาของเพื่อนร่วมงานก็เป็นความดีทั้งนั้น..


บางเรื่องก็ไม่ต้องรอโอกาส แต่สร้างโอกาสทำความดีด้วยตัวเอง อย่างเช่นวันนี้กะไว้ว่าจะต้องโทรไปคุยกับคุณพ่อคุณแม่ทำให้ท่านหัวเราะได้สักเอิ้กให้ได้แล้วก็ลงมือเลยค่ะ..แล้วก็อย่าลืมจดไว้ในความทรงจำด้วยนะคะว่านี่ไงความดีเล็กๆ ความสุขน้อยๆ รายวันเราก็ได้มีได้ทำกับเขาเยอะแยะเหมือนกัน..


ฝึกไปสักพักแล้วจะชอบชีวิตตัวเองยิ่งขึ้นไปอีกโดยไม่รู้ตัวค่ะ..


ฝึกให้อภัยตัวเอง...เพราะอภัยทานคือทานอันยิ่งใหญ่ที่ควรทำให้ตัวเองด้วย..

ฝึกนิยามความสุขความสำเร็จในแบบของเราเองที่จะไม่ทำให้เราต้องมาคอยร้องทุกข์กล่าวโทษตัวเองมากเกินไป.. แล้วก็ฝึกจดจำความสุขความสำเร็จและความดีเล็กๆน้อยๆรายวันของเรา..


สามเรื่องนี่แหละค่ะจะเป็นทุนและเป็นพลังใจอันยิ่งใหญ่ให้เราทุกคนได้ค่ะ..


เครดิต: พิชชาพร สิทธิโชค (นักจิตวิทยาคลินิก)

#นักจิตอยากเล่า



ดู 15,812 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page