เทคนิคการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อกระชับความสัมพันธภาพกับคนรักหรือคนใกล้ชิด
หลายครั้ง คุณพ่อ คุณแม่ คุณครู คุณหัวหน้า คุณลูกน้อง คุณเพื่อน คุณแฟน คุณลูก ฯลฯ มาปรึกษากับนักจิตค่ะว่าเวลาเขาสื่อสารบางอย่างออกไป ทำไมคนใกล้ชิดถึงไม่เข้าใจกันบ้าง...กลับมีปฏิกิริยาตอบโต้ทั้งโมโห บึ้งตึง โกรธ นิ่งเงียบ แยกตัว หนีหาย หรือเกิดการโวยวาย ทะเลาะวิวาทกันใหญ่ หาว่าเขาเป็นคนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่
เพราะอะไรน่ะเหรอคะ...ลองจินตนาการดูนะคะว่าคนฟังจะรู้สึกอย่างไร ถ้าได้ยินคำพูดเหล่านี้ . "เธอ!! ขับรถให้มันดีๆหน่อยสิ!" คนฟังก็จะแปลความหมายโดยอัตโนมัติว่าเขาถูกตำหนิว่า...เขาขับรถแย่มาก
“ทำไมเรื่องแค่นี้ทำให้กันไม่ได้เราเป็นเพื่อนกันนะ” คนฟังจะแปลความหมายโดยอัตโนมัติว่า… เขาเป็นเพื่อนที่ไม่ดีเลยนะ
"ใครๆเขาก็มาทันเวลาทั้งนั้น ทำไมเธอทำตัวแบบนี้" “เธอทำไมต้องเรียกร้องความสนใจด้วย” “ทำไมขี้เกียจแบบนี้” “ทำไมเธอไม่ขยันแบบลูกบ้านนั้นล่ะ” “ขี้เกียจแบบนี้จะไปทำมาหากินอะไรได้” ฯลฯ คนได้ฟังก็จะแปลความหมายโดยอัตโนมัติเลยค่ะว่าเขากำลังถูกตำหนิว่า… ไม่ได้เรื่อง ไม่มีความรับผิดชอบ เหลวไหล แย่มาก และอีกหลากหลายความหมายที่ทำให้คนฟังรู้สึกสะเทือนใจ . ถ้าหากนักจิตฯเองถ้าโดนคำพูดแบบนี้เข้าไปก็คง...ทั้งโกรธ เคือง น้อยใจ หงุดหงิด เงียบ ไม่คุย ไม่มองหน้า เศร้าเสียใจ รู้สึกผิด รู้สึกแย่ ยิ่งฟังซ้ำๆย้ำบ่อยๆเข้าก็สูญเสียความมั่นใจและโทษตัวเองตามมาค่ะ . เพราะประโยคที่ขึ้นต้นด้วย you message หรือ การกล่าวว่า “เธอ….....” / "เพราะเธอ......" นี่แหละค่ะที่ทำให้คนฟังรู้สึกว่าเขากำลังถูกตำหนิ เอาเข้าจริงๆก็ไม่มีใครชอบการถูกตำหนิหรอกค่ะ ยิ่งกับคนใกล้ชิดด้วยแล้วยิ่งไม่ชอบใหญ่เลย . แต่ถ้าถามอีกฝั่ง...ผู้พูดเองเขาก็ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้อีกคนรู้สึกไม่ดีเลยค่ะ… เบื้องหลังคำพูดเหล่านั้นล้วนแฝงไปด้วยความรู้เจ็บปวด ความคาดหวังและความกังวลหรือกลัวบางอย่างซ่อนอยู่… เพราเขาห่วงว่าคนที่เขารักจะไม่ประสบความสำเร็จ กลัวว่ามันจะเป็นอันตราย กังวลว่าผลที่ออกจะออกมาไม่ดีไม่เป็นอย่างที่หวัง กลัวว่าจะต้องเสียเพื่อนไป กลัวว่าตัวเองจะขายหน้า กลัวว่าตัวเองจะเป็นพ่อ-แม่ที่ดูแลลูกได้ไม่ดี ฯลฯ . แล้วอย่างนี้...ผู้พูดควรที่จะพูดอย่างไร ไม่ให้ผู้ฟังเสียความรู้สึก… .
เรามาลองฝึกเทคนิคการสื่อสารด้วยวาจากเแห่งรัก (I message) กันดูค่ะ วิธีการคือ 1) ผู้พูดต้องจับความรู้สึกของตัวเองให้ได้ค่ะ 2) พูดในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก และ 3) ตามด้วยสิ่งที่เราอยากให้เขาช่วยเราจัดการความรู้สึกนั้น
ตัวอย่างนะคะ “เธอ ขับรถให้มันดีๆหน่อยสิ” จริงๆแล้วผู้พูดกำลังหวาดกลัว และวิตกมากนะคะ ผู้พูดอาจจะลองเปลี่ยนมาพูดว่า “เราใจคอไม่ดีเลยนะ กลัวจนใจสั่นหมดแล้ว เธอช่วยขับรถให้ช้าลงหน่อยได้ไหม" . “ทำไมเรื่องแค่นี้ทำให้กันไม่ได้ เราเป็นเพื่อนกันนะ” จริงๆแล้วผู้พูดกำลังรู้สึกน้อยใจ และกลัวจะเสียเพื่อนไปค่ะ ผู้พูดอาจจะเปลี่ยนคำพูดเป็น "เราน้อยใจนะ..ที่วันนั้นเธอไม่โทรหาเรา..." . "ฉันบอกเธอกี่รอบแล้ว ทำไมเธอถึงยังได้ไม่เอาไหน เหลวไหล ฯลฯ แบบนี้” /“ฉันไม่รู้จะทำยังไงกับเธอแล้วจริงๆ คนอื่นๆเขาไม่เห็นจะเป็นแบบเธอเลย" / “ขี้เกียจแบบนี้จะไปทำมาหากินอะไรได้” จริงๆผู้พูดน่าจะรู้สึกกังวลและเป็นห่วงอนาคตของอีกคนอยู่มากเลยค่ะ ไม่งั้นคงจะไม่พยายามเขี่ยวเข็นพลักดันหรือใช้คำพูดกดดันขนาดนี้ . . ผู้พูดอาจลองเปลี่ยนคำพูดเป็น “เรากลัวว่ามันจะเสร็จไม่ทันเวลา อยากให้งานออกมาเนียบที่สุด เราอยากให้เธอช่วยให้เวลากับการทำงานมากกว่านี้หน่อยได้ไหม” /"ฉันเป็นห่วงเธอนะ...อยากให้เธอตั้งใจอ่านหนังสือมากกว่านี้" /"ฉันกังวลว่าถ้าเธอยังไม่ฟังคนอื่นแบบนี้...เธอจะลำบากในอนาคตนะ... เราอยากให้เธอลองเปิดใจฟังความเห็นของคนอื่นบ้าง"/ “ครูเป็นห่วงเธอนะ...อยากให้เธอมีอนาคตที่ดีมีอาชีพการงานที่ดี...อยากให้เธอดูแลตัวเองและตั้งใจมากขึ้น"
เป็นยังไงบ้างคะ…แนวทางนี้ไม่ง่ายและก็ไม่ยากเกินไปใช่ไหมคะ… เมื่อจับอารมณ์ของตัวเองได้แล้วก็สื่อสารในสิ่งที่เราต้องการ เพื่อให้สารนั้นส่งไปถึงผู้ฟังตามที่เราคิดหรือรู้สึกจริง ๆ
ทั้งนี้ กระบวนการสื่อสารความรู้สึกและความต้องการนั้นผู้พูดเองต้องเผชิญหาและยอมรับกับความคาดหวัง ความกังวล หรือความกลัวลึกๆในใจของตัวเองให้ได้ก่อนค่ะ ซึ่งหากยังติดกระบวนการตรงนี้ ยังไม่รู้ว่าจริงๆแล้วเรารู้สึกอย่างไรหรือต้องการอะไรถึงได้พูดออกไปแบบนั้น เราอาจจะต้องกลับมาทบทวน พูดคุยกับตัวเอง (self-talk) หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้เขาช่วยคลายบาดแผลในใจตรงนั้นออกก่อนค่ะ ขีดเส้นใต้เลยนะคะว่าผู้พูดเองต้องอาศัยการมีสติมากๆ รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง กล้าที่จะยอมรับและแสดงความต้องการของตัวเองค่ะ
สื่อสารด้วยวาจาแห่งรัก เปลี่ยนคำพูดจาก you message เป็น i message กันค่ะ เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีและสร้างบรรยากาศที่ดีกับคนใกล้ชิด
💕💕💕
Comments